กลุ่มชมรมผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต จากสาขาอาชีพต่างๆ มาติดตามความคืบหน้ากรณีที่ทางตัวแทนชมรมฯ ได้ยื่นหนังสือให้กับรองนายกฯเพื่อขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล
Published · Updated

วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต กลุ่มชมรมผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต จากสาขาอาชีพต่างๆ เช่น ขับรถตู้ พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบรายย่อย เป็นต้น จำนวนประมาณ 100 คน พร้อมแผ่นป้ายข้อความต่างๆ เช่น ลุงตู่ช่วยชาวภูเก็ตด้วย, โควิดซา น้ำตานอง ไฟแนนซ์ไม่ช่วยก็ซวยถึงพวกเรา, ได้โปรด “ช่วยเราด้วย” ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีผ่อน วอนภาครัฐ ช่วยให้พักหนี้ เป็นต้น ได้รวมตัวกันมาติดตามความคืบหน้ากรณีที่ทางตัวแทนชมรมฯ ได้ยื่นหนังสือให้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้ส่งตัวแทนจำนวน 6 คน นำโดยนางสาวทิพสุคนธ์ ทองตัน ซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 ด้วย เข้าพบนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว โดยมีนายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต, นายอัครา สุวัตถิกุล ป้องกันจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือด้วย นางสาวทิพสุคนธ์ กล่าวว่า การเดินทางมาพบผู้ว่าฯ นั้น เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ได้ยื่นหนังสือขอให้พิจารณาช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ในจังหวัดภูเก็ต กับนายจุรินทร์ฯ และผู้ว่าฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากขณะนี้ทุกคนได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากไม่มีรายได้ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ สำหรับประเด็นที่เรียกร้องยังคง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาและบังคับใช้ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการปล่อยกู้ซอฟท์โลนให้เหมาะสมเพื่อให้เงินกู้ได้ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงพิจารณาให้ดอกเบี้ยต่ำ และระยะเวลาปลอดหนี้เงินกู้อย่างน้อย 1 ปี, ขอให้มีการพักชำระหนี้ การประนอมหนี้ และการยกเว้นยึดทรัพย์ จากไฟแนนซ์ ลีสซิ่ง ทั้งที่อยู่ภายใต้ธนาคารแห่งประทศไทยและไม่ได้อยู่ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระ ทบในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลาต่ออีก 1 ปี และงดเว้นมาตรการยึดทรัพย์ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนยังคงมีที่พักอาศัยและเครื่องมือทำมาหากิน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวสามารถดำเนินชีวิต ทำงาน และประกอบอาชีพได้เลย เพื่อสร้างรายได้และมีความสามารถในการจ่ายภาษีตามปกติ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ให้จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอย่างไรก็ตามหลังจากนี้ก็จะเดินทางไปยังส่วนกลางเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องต่างๆ อีกครั้ง