ประชุมติดตามการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประชุมติดตามการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ หลังจากหลายพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอุปโภคแล้วในขณะนี้ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน ์ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดแบบบูรณาการ ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณแหล่งเก็บน้ำในปัจจุบันของจังหวัดภูเก็ต โดยอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ซึ่งมีปริมาณความจุเก็บกักน้ำอยู่ที่ 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันอยู่ที่ 0.46 ลูกบาศก์เมตร โดยได้งดการจ่ายน้ำแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำบางวาด มีปริมาณความจุเก็บกักน้ำอยู่ที่ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณเก็บกักน้ำเพียง 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการคำนวณจะมีน้ำใช้ประมาณ 73 วันหรือไปถึงช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2563 โดยการใช้น้ำเพื่อการประปาเฉลี่ย 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะมีปริมาณความจุเก็บกักน้ำ 4.30 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีเพียง 1.473 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้น้ำได้จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 หรือ ประมาณ 105 วันเป็นการจ่ายน้ำเพื่อการประปาเฉลี่ย 10,000 ถึง 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทางด้าน การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต ได้ดำเนินการหาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อผลิตประปาแจกจ่ายน้ำให้แก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งการแก้ไขการติดตั้งบูสเตอร์ปั๊มบริเวณหน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอถลาง เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่ขณะนี้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค คือพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งพื้นที่ขาดน้ำอุปโภคได้แก่พื้นที่ตำบลรัษฎาและตำบลวิชิต โดยทางท้องถิ่นร่วมกับการประปาได้ดำเนินการออกแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชน โดยกำหนดเป็นจุดแจกจ่ายน้ำรวมและช่วงระยะเวลาการแจกจ่ายน้ำ แต่ปัจจุบันประสบปัญหาปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยปัญหาการแจกจ่ายน้ำยังจุดแจกจ่ายน้ำรวม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางไปรอรับน้ำได้ โดยมีความต้องการให้มีการแจกจ่ายน้ำถึงบริเวณหน้าบ้านพัก

ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอในเรื่องของระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบ Reverse osmosis หรือระบบ RO โดยเป็นระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลโดยใช้เทคโนโลยีระบบ RO เป็นเทคโนโลยีการประปาที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล ญี่ปุ่น โดยมีหลักการคือการใช้แรงดันสูงกว่าแรงดันตามธรรมชาติ นำสารละลายที่มีความเข้มข้นสูง คือน้ำทะเลผ่านเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้มาซึ่งสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าหรือน้ำจืด โดยระบบกรองน้ำทะเลหรือที่เรียกว่าสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงผ่านเยื่อกรอง เมมเบรนที่มีความละเอียดสูงถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้สารละลายสิ่งเจือปนรวมทั้งเชื้อโรคต่างๆที่มีขนาดใหญ่กว่ารูพรุนของเยื่อกรอง ไม่สามารถผ่านออกจากระบบได้ จะเป็นเพียงน้ำโมเลกุลน้ำจืดเท่านั้นที่ไหลผ่านออกจากระบบ ซึ่งในพื้นที่ภูเก็ตได้มีพื้นที่กะรนมีการนำระบบ RO มาใช้เมื่อปี 2549
โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและดำเนินการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามในเรื่องของ การดำเนินการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลนั้น ต้องศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง จากสถานประกอบการทำน้ำจืดจากทะเล เบื้องต้นคาดว่าไม่ประสบปัญหาในเรื่องดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาและดำเนินการตามแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในระยะเร่งด่วน
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบหมายให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต จัดทำแผนแจกจ่ายน้ำบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับมอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดภูเก็ตและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการฝึกอบรมจิตอาสาภัยพิบัติ เพื่อนำกำลังจิตอาสามาให้บริการการแจกจ่ายน้ำให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้